วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

ความหมายวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

ความสำคัญวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์
ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส


ประวัติความเป็นมาวันมาฆบูชา
 
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาต
คำว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ
  • “จาตุร” แปลว่า ๔
  • “องค์” แปลว่า ส่วน
  • “สันนิบาต” แปลว่า ประชุม
ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่าการประชุมด้วยองค์ ๔ กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
  1. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหาร
    ในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก
    พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
  4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
มูลเหตุ
      
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระอรหันตสาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธ ศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ล่วงแล้วได้ 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาของตนอยู่เดิม ก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และในลัทธิศาสนาเดิมนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหล่าผู้ศรัทธาพราหมณลัทธินิยมนับถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาปหรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่มาบัดนี้ตนได้เลิกลัทธิเดิมหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรเดินทางไปเข้าเฝ้าบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เหล่านั้นซึ่งเคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม จึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย
มีผู้กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาวกทั้ง 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย มาจากในวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์ เป็นวันพิธีศิวาราตรี พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัว กันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน

โอวาทปาฏิโมกข์
       หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

แปล :
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ
คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะการไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน)
        พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลมหาสังฆสันนิบาต ในโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดีย (เป็นพระพุทธรูปสร้างใหม่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก)เหตุการณ์สำคัญที่ เกิดในวันมาฆบูชา เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ “กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร” ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาตอันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน

วัดเวฬุวันมหาวิหาร
      “วัดเวฬุวันมหาวิหาร” เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)

วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล
        เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จพระพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า “พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน”หรือ “เวฬุวันกลันทกนิวาป” (สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต) พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาหลังจากได้ สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม) โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้ง ใหญ่ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

วัดเวฬุวันหลังการปรินิพพาน
        หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเวฬุวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎีที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะและ ปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนมชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันกว่าพันปี
แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ หลายครั้งในช่วง พ.ศ. 70 ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของ พระเจ้าพิมพิสารออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี เก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็น เมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองราชคฤห์ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดเวฬุวันขาดผู้อุปถัมภ์และถูกทิ้งร้างอย่าง สิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา
     
       โดยปรากฏหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 – 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตแต่ประการ ใด

       แต่หลังจากนั้นประมาณ 200 ปี วัดเวฬุวันก็ถูกทิ้งร้างไป ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ?ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์ราวปี พ.ศ. 1300 ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น (ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูปและโบราณสถาน เก่าแก่อื่น ๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในการค้นหาโบราณสถาน ต่าง ๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน)


จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเวฬุวันในปัจจุบัน
         ปัจจุบันหลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดียในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของ อังกฤษ วัดเวฬุวัน ยังคงมีเนินดินโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ “พระมูลคันธกุฎี” ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน, “สระกลันทกนิวาป” ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ “ลานจาตุรงคสันนิบาต” อันเป็นลานเล็ก ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ (ลานนี้เป็นลานที่กองโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาท ปาฏิโมกข์ในจุดนี้)

จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)
        ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีนและในพระไตรปิฎกแต่อย่าง ใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น ณ จุดใดของวัดเวฬุวัน รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน) หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด (ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างหรือปักไว้เพื่อเป็น เครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบญ) ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้น ในจุดใดของวัด

         ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียง สันนิษฐานว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป” (โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกัน มากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่ เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่) โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ กลางลาน และเรียกว่า “ลานจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ ในจุดใด และยังคงมีชาวพุทธบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้ในบริเวณอื่นของวัดโดย เชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐานของกองโบราณคดีอินเดีย ดังกล่าว โดยนิยมนับถือกันว่าซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทยผู้มา แสวงบุญจุดสำคัญ 1 ใน 2 แห่งของเมืองราชคฤห์ (อีกจุดหนึ่งคือพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชกูฏ)





วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา

         วันออกพรรษา ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 11 เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ออกจากจำพรรษา หรือการอยู่ประจำที่ตลอดฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ต่อจากวันนี้ไปพระภิกษุสงฆ์ก็สามารถจาริกไปในที่ต่าง ๆ และค้างแรมในที่อื่นได้
         วันออกพรรษานี้มีการทำปวารณา ในหมู่พระภิกษุสงฆคือให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาแทนการทำอุโบสถ์สังฆกรรม ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ต่างรูปต่างกล่าวคำปวารณาตามลำดับอาวุโส มีใจความว่า
 
          "สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺ สามิ ฯ"
 
          ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อพระสงฆ์ด้วยได้ยินก็ดี ได้ฟังก็ดี สงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าสำนึกได้จักทำคืนเสีย แล้วจักสำรวมระวังต่อไป (กล่าว 3 ครั้ง)






       ในวันออกพรรษาตามประวัติกล่าวว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ได้เสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาการเสด็จลงจากดาวดึงส์ครั้งนั้น ได้เสด็จลงมา ณ เมืองสังกัสสะ บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปตักบาตรแด่พระพุทธเจ้า เรียกว่า "ตักบาตรเทโว"คำเต็มคือ ตักบาตรเทโวโรหนะ คำว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก

 



      สำหรับพิธีตักบาตรเทโวนั้นโดยทั่วไปจะทำกันในบริเวณพระอุโบสถ มีการอัญเชิญพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานบนบุษบกมีล้อเลื่อน มีบาตรตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูป แล้วใช้คนลากนำหน้าพระภิกษุสงฆ์จะเดินตามพระพุทธรูป บรรดาพุทธศาสนิกชนจะเรียงรายอยู่เป็นแถวสองข้างทางที่พระพุทธรูปและพระสงฆ์เคลื่อนผ่าน เพื่อตักบาตรอาหารที่นิยม นำมาตักในวันนี้มี ข้าวสุก ข้าวต้มมัดใต้ และข้าวต้มลูกโยน
 
        ในที่บางแห่งมีปูชนียวัตถุ เช่น พระธาตุเจดีย์ สร้างไว้บนภูเขา หรือสิ่งก่อสร้างที่สูงๆ เช่นที่ วัดสังกัส จังหวัดอุทัยธานี วัดเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี และภูเขาทองวัดสระเกศ ที่กรุงเทพ ฯ ก็จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปลงจากภูเขา บรรดาพุทธศาสนิกชนก็มาคอยตักบาตร โดยตั้งแถวสองแถวเรียงรายรออยู่ที่เชิงเขา เพื่อให้ดูใกล้ความจริงว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากที่สูง




       การบำเพ็ญกุศลนอกจากนี้ก็มีการถวาย ผ้าจำนำพรรษา และพิธีทอดกฐิน ซึ่งจะกระทำกันหลังวันออกพรรษาไปได้อีกถึง วันเพ็ญ กลางเดือน 12



วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา
    
    จากที่เกิดวันเข้าพรรษา เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เหตุเพราะสมัยก่อนฝนตกชุก การเดินทางสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก อีกทั้งไปเหยียบต้นข้าวของชาวบ้าน ในสมัยที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และได้ให้พระภิกษุสงฆ์ออกไปตามเขตต่าง ๆ เพื่อประกาศพระศาสนา จนมีผู้ขออุปสมบทมากขึ้น จึงทำให้มีพระภิกษุสงฆ์ออกไปเผยแพร่พระศาสนากันมากขึ้น แม้ในฤดูฝนก็มิได้หยุดพัก การเดินทางก็ไม่สะดวก ทั้งยังเหยียบข้าวกล้าให้เกิดความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า 
   
    "ไฉนเล่า พระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล เหยียบข้าวกล้าและติณชาติให้ได้รับความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย พวกเดียรถีย์และปริพพาชกเสียอีกยังพากันหยุดพักในฤดูฝน ถึงนกยังรู้จักทำรังที่กำบังฝนของตน"


  พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๑ ห้ามมิให้เที่ยวสัญจรไปมา
          วันเข้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วัน คือ
          ๑.ปุริมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญ กลางเดือน ๑๑ 
          ๒.ปัจฉิมมิกาวัสสูปนายิก คือ วันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒
          
          ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว หากมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่จะต้องกลับมา ยังสถานที่เดิมภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด ที่เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" เหตุที่ทรงอนุญาตให้ไปได้ด้วยสัตตาหกรณียะนั้นมี ๔ อย่างดังต่อไปนี้
          ๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าไปเพื่อรักษาพยาบาล
          ๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าไปเพื่อห้ามปราม
          ๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาะมาปฏิสังขรณ์
          ๔. ทายกต้องการบำเพ็ญบุญกุศลส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขาได้
          แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจจลักษณะอนุโลมเข้าในข้อนี้ด้วย


          ในเวลาจำพรรษาเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจะอยู่ต่อไปไม่ได้ และไปเสียจากที่นั้น พรรษาขาดแต่ท่านไม่ปรับอาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ) มีดังนี้ คือ
          - ถูกสัตว์ร้าย โจร หรือปีศาจเบียดเบียน
          - เสนาสนะถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วม
          - ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม ลำบากด้วยบิณฑบาต ในข้อนี้ชาวบ้านอพยพจะตามเขาไปก็ควร
          - ขัดสนด้วยอาหาร โดยปกติไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบาย ไม่ได้อุปัฏฐากอันสมควร (ข้อนี้หากพอทนได้ก็ควรอยู่ต่อไป)
          - มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม หรือมีญาติมารบกวนล่อด้วยทรัพย์
          - สงฆ์ในอาวาสอื่นจวนจะแตกกันหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อสมานสามัคคีได้อยู่
(ในข้อนี้ ถ้ากลับมาทัน ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะ)


พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการอยู่จำพรรษาในสถานที่บางแห่ง แก่ภิกษุบางรูปผู้มีความประสงค์ จะอยู่จำพรรษาในสถานที่ต่าง ๆ กัน สถานที่เหล่านั้น คือ 
          ๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในสถานที่ของคนเลี้ยงโค)
          ๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
          ๓. ในหมู่เกวียน
          ๔. ในเรือ


พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้อยู่จำพรรษาในสถานที่อันไม่สมควร สถานที่เหล่านั้นคือ 
          ๑. ในโพรงไม้
          ๒. บนกิ่งหรือคาคบไม้
          ๓. ในที่กลางแจ้ง
          ๔. ในที่ไม่มีเสนาสนะ คือไม่มีที่นอนที่นั่ง
          ๕. ในโลงผี
          ๖. ในกลด
          ๗. ในตุ่ม

 ข้อห้ามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ 
          - ห้ามมิให้ตั้งกติกาอันไม่สมควร เช่น การมิให้มีการบวชกันภายในพรรษา
          - ห้ามรับปากว่าจะอยู่พรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น

          
          อนึ่ง วันเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นกรณียพิเศษสำหรับภิกษุสงฆ์ เมื่อใกล้วันเข้าพรรษาควรปัดกวาด เสนาสนะสำหรับจะอยู่จำพรรษาให้ดี ในวันเข้าพรรษา พึงประชุมกันในโรงอุโบสถไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาต่อกันและกัน หลังจากนั้นก็ประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา ภิกษุควรอธิษฐานใจของตนเองคือตั้งใจเอาไว้ว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
          "อิมสฺมึ อาวาเส อิมัง เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน"
          หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการบูชาปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระเถระผู้ที่ตนเองเคารพนับถือ




อานิสงส์แห่งการจำพรรษา
          เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้ปวารณาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา ๕ อย่าง ตลอด ๑ เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ
          ๑. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์
          ๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
          ๓. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
          ๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
          ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ

          
           และยังได้โอกาสเพื่อที่จะกราลกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง ๕ ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ในฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ อีกด้วย
          ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม
          สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
          สำหรับการปฏิบัติอื่น ๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง




วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา



วันอาสาฬหบูชา 
 
       เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
          การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า 

          ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ                   สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ 
          สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา       สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
          เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก
          
         คำว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
          ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
          การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่ 

            ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ 
            สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ 

ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน 
          หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ 
          ๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ 
          ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ 
          ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ 
          ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ 
          ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ 
          ๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ 
          ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ 
          ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ





          พระพุทธองค์ ทรงประกาศถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง สิ่งนั้นก็คือ อริยสัจ มี ๔ ประการ คือ
          ๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเดือดร้อนใจ ทุกข์เพราะเกิด - ดับ ความไม่สมหวัง ความพรัดพรากจากคนรัก สิ่งของที่รัก และชอบใจ และทุกข์อันเนื่องมาจากขันธ์ ๕
          ๒. สมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งได้แก่ตัณหา ๓ อย่าง ได้แก่
                ๒.๑ กามตัณหา ความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ น่าชอบใจ
                ๒.๒ ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
                ๒.๓ วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
          ๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ กำจัดกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป จิตสงบจากกิเลสและนิวรณ์
          ๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, มรรคนี้ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
          และเมื่อกล่าวโดยย่อก็ได้แก่สิกขา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
          การที่จะเรียกว่าตรัสรู้อริยสัจนั้น ต้องเป็นความรู้ที่มีวนรอบคือ รู้ ๓ ชั้น ด้วยพระญาณทั้ง ๓ คือ
                 ๑. สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
                 ๒. กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
                 ๓. กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ ว่า 
          "นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้ และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
          นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
          นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
          นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ และพระองค์ ได้เจริญแล้ว"

          สรุป ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
          
          พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว
         
          เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
          วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการ คือ
          ๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
          ๒. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
          ๓. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
          ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในวันวิสาขบูชา การแสดงธรรมในวันนี้จะเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
          
          วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยศึกษา พระธรรมวินัยอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงทางแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต่อไปชั่วกาลนาน


คำถวายดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา

          ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, สัตเตสุ การุญญัง ปฏิจจะ กรุณายะโก, หิเตสี อะนุกัมปัง อุปาทายะ, อาสาฬหะปุณณะมิยัง พาราณะสิยัง, อิสิปะตะเน มิคะทาเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง, อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะฐะมัง ปะวัตเตตะวา, จัตตาริ อะริยะสัจจานิ ปะกาเสสิ ฯ ตัสมิญจะ โข สะมะเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง ปะมุโข, อายัสมา อัญญาโกณฑัญโญ, ภะคะวะโต ธัมมัง สุตะวา, วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง ปะฏิละภิตะวา, ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง, สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ, ภะคะวันตัง อุปะสัมสะทัง ยาจิตวา ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย อะริยะสาวะกะสังโฆ โลโก ปะฐะนัง อะโหสิ พุทธะระตะนังธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง สังฆะระคะนันติ ติระตะนัง สัมปุณณัง อะโหสิฯ มะยัง โข ตะระหิ อิมัง อาสาฬหะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะกาละสัมมะตัง อะริยะสาวะกะสังฆะอุปปัตติกาละสัมมะตัญจะ ระตะนัตตะยะสัมปุณณะกาละสัมมะตัญญจะ ปัตวา อิมัง ฐานัง สัมปัตตา อิเม สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา อิมัง ถูปัง (อิมัง พุทธะปะฏิมัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานาฯ สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเค สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ

 


คำแปล

          เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดแล้ว ว่าเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย อนึ่ง เราทั้งหลายชอบใจซึ่งพระธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ทรงอาศัยความการุณ ในสัตว์ทั้งหลาย ทรงพระกรุณาแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงอาศัย ความเอ็นดู ได้ยังพระธรรม จักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป ทรงประกาศอริยสัจ ๔ เป็นครั้งแรกแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสีในวันอาสาฬหปุณณมี อนึ่ง ในสมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทินว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้น มีความดับเป็นธรรมดา" จึงทูลขออุปสมบท กะพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นองค์แรกในโลก อนึ่ง ในสมัยนั้นแลพระสังฆรัตนะได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะและพระสังฆรัตนะ ได้สมบูรณ์แล้วในโลก บัดนี้ เราทั้งหลาายแล มาประจวบมงคลสมัยอาสาฬหะปุณณมี วันเพ็ญอาสาฬหมาส ที่รู้พร้อมกันว่า เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกาศพระธรรมจักรเป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งพระอริยสงฆ์สาวก และเป็นวันที่ประรัตนตรัยสมบูรณ์ด คือ ครบ ๓ รัตนะ จึงมา ประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ถือสักการะเหล่านี้ ทำกายของตนให้เป็นดังภาชนะรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณตาม ความเป็นจริงทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จจักทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบซึ่งพระสถูป (พระพุทธปฏิมา) นี้ บูชาอยู่ด้วยสักการะอันถือไว้แล้วอย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว ยังปรากฎอยู่ด้วยพระคุณสมบัติอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ จงทรงรับเครื่องสักการะ อันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ






วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา


            วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส ก็เลื่อนออกไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗) ในวันนี้ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ


             ความสำคัญของ “วันวิสาขบูชา” ด้วยเหตุตามที่กล่าวมา วันวิสาขบูชา จึงถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเมื่อถึงวันเช่นนี้ พุทธศาสนิกชนถ้วนหน้าทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงพร้อมใจกันน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า ประกบอพิธีบูชาด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชาด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่งการบูชาอันเนื่องด้วยวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมาก็ควรที่จะกล่าวประวัติไว้เพื่อเป้นการเจริญศรัทธา ความเชื่อและปสาทะความเลื่อมใสต่อไป

           ประสูติ

 

          พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาเอกของโลก เมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงกระทำบุญญาธิการไว้ในสำนักของ พระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ มีพระพุทธเจ้าทรงพระนาม ทีปังกรเป็นต้นมาถึง ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัลป์ จนได้รับพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๔ พระองค์นั้นว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม ในอนาคต พระองค์ได้บำเพ็ญพุทธการกธรรมมีทานบารมีเป็นเป็นต้น และได้รวบรวมธรรม ๘ ประการ คือ
๑. มนุสฺสตฺตํ เป็นมนุษย์
๒. ลิงคสมฺปตฺติ เป็นเพศชาย
๓. เหตุ มีอุปนิสัยสมบัติที่จะบรรลบุมรรคผลได้
๔. สตฺถารทสฺสนํ พบพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่
๕. ปพฺพชฺชา บวชเป็นดาบสหรือพระภิกษุอยู่
๖. คุณสมฺปตฺติ ได้สมาบัติ ๘ และ อภิญญา ๕
๗. อธิกาโร อาจสละชีวิตแก่พระพุทธเจ้าได้
๘. ฉนฺทตา มีฉันทะ อุตสาหะ บำเพ็ญพุทธกากรธรรม
ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้เรียกว่า อภินิหาร
          พระพุทธองค์ ได้ทรงกระทำอภินิหารแทบเบื้องยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ได้บำเพ็ญบารมีและพิจารณาถึงพุทธการกธรรมมา โดยลำดับตราบจนถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมี
          พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี มาด้วยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือหมู่เวไนยสัตว์ ทั่งข้องอยู่ในวัฏฏะให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะ ดังนั้นพระองค์เมื่อจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็ย่อมสเด็จอุบัติขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชาวโลก ให้พ้นจากทุกข์ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกเป็นไฉน ? คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"
อีกประการหนึ่ง ความปรารถนาของพระพุทธเจ้าจะปรากฏง่าย ๆ เหมือนสามัญชนก็หาไม่ แท้ที่จริงแล้วความปรากฏของพระพุทธเจ้าเป็นการยาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรารกฏของบุคคลผู้เอกหาได้ยากในโลก, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน , คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏของบุคคลผู้เอกนี้แล หาได้ยากในโลก"
          พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเป็นอัจฉริยมนุษย์ที่พิเศษกว่ามวลมนุษย์ทั้งหลาย เกิดขึ้นในโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน, คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์
          พระพุทธพจน์ดังกล่าวมานี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า วันประสูติของพระพุทธเจ้านับว่าเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันเกิดของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จะหาบุคคลที่เสมอเหมือนไม่มีในโลก ดังที่พระองค์ทรงเปล่งกล่าวอาสภิวาจาว่า
          อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เสฏฺโฐหสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก
           การประสูติของพระพุทธเจ้าที่สวนลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน ในวันเพ็ญ เดือน ๖ เป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้น วันประสูติของพระพุทธเจ้าจึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

          ตรัสรู้




          พระพุทธเจ้า ของเราทั้งหลายได้ทรงตรัสรู้สัจจธรรม ๔ ประการ หรือที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ ซึ่งเป็นของจริงอย่างประเสริฐที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ชอบได้ โดยพระองค์เองที่โคนต้นโพธิ์อัสสัตถพฤกษ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอนมาก่อนเลย ดังที่พระองค์ตรัสว่า "เราเป้นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง ละธรรมที่เป็นไปในภพ ๓ ทั้งหมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราไม่มี บุคคลที่เสอมเหมือนเราก็ไม่มีในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดาซึ่งไม่มีศาสดาอื่นยิ่งกว่า เราผู้ดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว"
           ชาวโลก จึงพากันขนานพระนามแด่พระองค์ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเราตถาคตตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ เหล่านี้ตามความเป็นจริง ชาวโลกจึงเรียก ตถาคตว่า เป็นองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, เราตถาคตได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่ประชาสัตว์ สมณ พราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์, เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ ประการนี้จึง เรียกว่า อริยสัจ จริงอยู่ อริยสัจ ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนั้น เป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ไม่สามารจะคัดค้านหรือปฏิเสธได้"
          พระพุทูองค์ตรัสไว้ว่า  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัจจะ ๔ ประการนี้ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, สัจจะ ๔ ประการนี้ได้แก่อะไร, ได้แก่ ทุกข์ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, สมุทัย เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, นิโรธ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, มรรค เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่นและธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นั้นเป็นธรรมที่มีความสุขุมละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก มิใช่ธรรมที่ผู้มีกิลเสหนาปัญญาหยาบจะตามรู้ได้โดยง่าย ดังที่พระพุทธองค์ทรงมีพระปริวิตกเมื่อคราวที่ตรัสรู้ใหม่ ๆ ว่า   ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้แล เป็นธรรมอันลึกซึ้ง พิจารณาเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมที่สงบระงับ ประณีต ตรึกตรองเอาเองไม่ได้ เป็นธรรมอันละเอียด รู้ได้เฉพาะผู้ที่เป็นบัณฑิต"
         การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โคนต้นโพธิ์อัสสัตถพฤกษ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น เป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้นวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงนับว่าเป็นวันสำ คัญทางพระพุทธศาสนา

          ปรินิพพาน
          การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษที่สำคัญที่สุดของโลก ก็เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการดับสลายไปแห่งดวงตาของโลกชั่วนิจนิรันดร์ เป็นเหตุให้หมู่ประชาต้องโศกเศร้าอาลัยถึงด้วยความเสียดาย ในพระพุทธองค์ผู้เป็นดวงตาอันยิ่งใหญ่ของชาวโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปรินิพพานของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นเหตุเดือดร้อนใจ อาลัยอาวรณ์ของชนเป็นอันมาก, บุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษเป็นไฉน, คือ พระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปรินิพพานของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นเหตุเดือดร้อนใจ อาลัยอาวรณ์ของชนเป็นอันมาก"
การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ร่มไม้สาละ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น เป็นวันที่ชาวโลกต้องสูญเสียบุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้น วันเสด็จดับขันธปริพพานของ พระพุทธเจ้านั้นจึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว วันประสูติ และ วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นวัน นำมาซึ่งประโยชน์ ซึ่งความสุข ความเจริญ ความชื่นชม โสมนัสปรีดา และปราโมทย์แก่ชาวโลกทั้งปวง เพราะเป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก ส่วนวันดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น เป็นวันที่นำมาซึ่งความทุกข์ระทม โศกเศร้า อาลัยอาวรณ์เดือดร้อนใจของชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันที่ชาวโลกต้องสูญเสียเอกอัครมหาบุรุษ ผู้สำคัญที่สุดของโลก วันทั้ง ๓ นี้ ตกอยู่ในวาระเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน วิสาขะ) วันนี้จึงนับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา
     ในอภิลักขิตสมัย วันวิสาขบูชา นี้ เราทั้งหลายผู้เป็นชาวพุทธ พึงกระทำประทักษิณเวียนรอบอุโบสถ หรือปูชนิยสถาน ๓ รอบ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการบูชา ๒ ประการ คือ
          ๑.อามิสบูชา การบูชาดว้ยสิ่งของมีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น
          ๒.ปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีควาพร้อมเพรียงกัน ตั้งตนไว้ชอบและไม่ประมาทขาดสติสัมปชัญญะให้เป็นไปด้วยดี
          ใน วันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบปี ก็จักไม่ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ และได้ชื่อว่ากระทำการสักการะบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง คือ บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตามธรรมสมควรแก่ธรรม และจะได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์อย่างแท้จริง